สพป.ชร.1 Kick off “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์

วันที่ 26 ธันวาคม 2567 นายมรกต อนุเคราะห์ ผผอ.สพป.เชียงราย เขต 1 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Kick off นโยบาย OBEC Zero Dropout ตามโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” ในการติดตาม ค้นหา แก้ไขปัญหา เด็กตกหล่นจำนวน 6,132 คน และออกกลางคัน จำนวน 238 คน ในพื้นที่รับผิดชอบ ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ โดยจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU)กับโรงเรียนในสังกัด พร้อมประสานความร่วมมือกับ 10 หน่วยงาน ได้แก่ สพป.เชียงราย เขต 2-4 สพม.เชียงราย สนง.ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย สนง.ส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดเชียงราย สนง.อาชีวศึกษาจังหวัดเชียงราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย สนง.พระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมพญามังราย สพป.เชียงราย เขต 1 ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย

องค์การยูเนสโกและยูนิเซฟได้ให้นิยามสากลคำว่า “เด็กนอกระบบการศึกษา” แบ่งออกเป็น 5 มิติ มิติที่ 1 เด็กนอกระบบการศึกษากลุ่มแรก คือ เด็กปฐมวัยที่ยังไม่ได้เข้าเรียนอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นเด็กที่ไม่เคยเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา หรืออาจจะเรียกว่าเด็กตกหล่น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยไม่รู้จักตัวตนของเด็กกลุ่มนี้มาก่อน ด้วยสภาพเช่นนี้จึงต้องพยายามค้นหาเด็กที่ควรจะได้เข้าเรียน แต่ยังไม่ได้เรียน มิติที่ 2 และ 3 เด็กที่เข้าเรียนช้า หรือเข้าเรียนแล้ว แต่หลุดออกจากระบบการศึกษาไป ทั้งในระดับประถมและมัธยมต้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน โดยหน่วยงานด้านการศึกษามีข้อมูลและรู้จักตัวตนของเด็กกลุ่มนี้ หากดูจากเลขประจำตัว 13 หลัก ก็สามารถติดตามตัวกลับเข้าสู่ระบบได้มิติที่ 4 และ 5 เด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษา ทั้งประถมและมัธยมต้น ไม่ว่าจะเกิดจากภาวะความพิการ ความยากจน ความด้อยโอกาส อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ขาดเรียนบ่อย เป็นต้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านคน จัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ “Thailand Zero Dropout”

ใส่ความเห็น