วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยดร.สมบูรณ์ ธรรมลังกา ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1 ในฐานะประธานและผู้ตรวจราชการกลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำเขตตรวจราชการ ที่ 16 (พะเยา-เชียงราย-แพร่-น่าน) ลงพื้นที่ ขับเคลื่อนโครงการพาน้องกลับมาเรียนตามนโยบายท่านตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ติดตามค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 ในโรงเรียนบ้านเกี๋ยง ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า “พึงพอใจกับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ที่ได้เห็นความใส่ใจของผู้บริหารโรงเรียนและครูทุกท่านที่มีต่อเด็กนักเรียน ตัวอย่างในโรงเรียนบ้านเกี๋ยงมีนักเรียนหายออกไปจากระบบการศึกษาจำนวน 2 รายทางโรงเรียนได้ค้นหา ติดตามแล้วพบว่ารายแรกเด็กชั้น ป.1 ย้ายติดตามผู้ปกครองไปต่างประเทศ ศึกษาต่อในโรงเรียน Purdy Elementary School รายที่สอง ชั้น ป.3 ย้ายติดตามผู้ปกครองไปต่างจังหวัดและศึกษาต่อในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งและบันทึกสถานะการติดตามในระบบ “พาน้องกลับมาเรียน” แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญเป็นการป้องกันเด็กออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพทุกคน”
โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน”สนองรับนโยบายของรัฐบาล “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มให้ได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมากแนวทางการดำเนินงานติดตามค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินการตามบทบาทและภารกิจการจัดการศึกษาตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล จึงจัดทำโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน”เพื่อติดตามค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพเพื่อส่งเสริมให้เด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ได้รับการศึกษาอย่างน้อยจนจบการศึกษาภาคบังคับ และหรือได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาฝีมือเพื่อการมีงานทำต่อไป